วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

หลักฐานยุคก่อนปะวัติศาสตร์

หลักฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์






             นักโบราณคดีชาวฮอลันดา ดร. เอช. อาร์. แวน ฮิงเกอเรน ได้ขุดค้นพบเครื่องมือหินเทาะซึ่งทำขึ้นโดยมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณใกล้สถานีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีข้อสันนิษฐานว่ามนุษย์เหล่านี้อาจเป็น มนุษย์ชาวและมนุษย์ปักกิ่ง ซึ่งอยู่อาศัยเมื่อประมาณ 5 แสนปีมาแล้ว อันเป็นหลักฐานในยุคหินเก่า
ในประเทศไทยพบหลักฐานของมนุษย์ยุคหินกลางในหลายจังหวัด โดยที่อำเภอไทรโยค ได้ขุดค้นพบเครื่องมือหินและโครงกระดูก จึงทำให้สันนิษฐานว่าดินแดนซึ่งแม่น้ำกลองไหลผ่านได้มีมนุษย์อยู่อาศัยมานานกว่า 20,000 ปี ส่วนเครื่องปั้นดินเผาที่เก่าที่สุดในประเทศไทย อายุเกือบ 1,000 ปี ถูกค้นพบที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงทำให้เกิดแนวคิดที่ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นถิ่นกำเนิดของการกสิกรรมครั้งแรกของโลกนอกจากนี้ยังค้นพบขวานหินขัดในหลายภาคของประเทศไทย ซึ่งเป็นหลักฐานของมนุษย์ยุคหินใหม่
            การขุดค้นโดยวิทยา อันทรโกศัย แห่งกรมศิลปากร ทำให้พบโครงกระดูกและเศษผ้าไหมติดกระดูกเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งคาดว่ามีอายุถึง 3,000 ปี ก่อนที่การค้นพบหลักฐานเพิ่มเติมที่ตำบลโคกพนมดี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งยืนยันว่ามีอายุ 5,000 ปี อาจเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมสูง และเผยแพร่ไปส่ประเทศจีนและส่วนอื่น ๆ ของทวีปเอเชีย นายดอน ที บายาด ยังได้ขุดค้นขวานทองแดงในบ้านโนนนกทา จังหวัดขอนแก่น ยืนยันถึงการใช้เครื่องสำริดในยุคหินใหม่ ซึ่งเก่าแก่กว่าหลักฐานที่ขุดค้นพบในจีนและอินเดียกว่า 500-1,000 ปี


ชนพื้นเมืองและการอพยพเข้ามาในประเทศไทย

 นักมานุษยวิทยาได้จัดประเภทมนุษย์สมัยโบราณรุ่นแรกในตระกูลออสโตเนเซียน ซึ่งเป็นพวกที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยเมื่อหลายพันปีที่แล้ว รวมทั้งเป็นบรรพบุรุษของชนชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปัจจุบัน ต่อมา มนุษย์ในตระกูลมอญและเขมรจะอพยพเข้ามาจากจีนหรืออินเดียด้วย ก่อนที่พวกไทยจะอพยพเข้ามาแย่งชิงดินแดนจากพวกละว้า ซึ่งเป็นชนชาติล้าหลัง  ชาวเขาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยปัจจุบันจึงสันนิษฐานว่าสืบเชื้อสายมาจากพวกละว้า









อ้างอิง http://www.baanjomyut.com/library_2/contemporary_thai_art/index.html






บุคคลสำคัญของไทย สมัยอยุธยา

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

พระราชประวัติ

               สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิบดีที่ 2 (เจ้าสามพระยา)  กับพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 2 แห่งสุโขทัย  พระองค์จึงเป็นเชื้อสายราชวงศ์สุพรรณบุรีและราชวงศ์พระร่วง  ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของอยุธยา    

 พระราชกรณียกิจที่สำคัญ  

1. การรวมอาณาจักรสุโขทัยเข้ากับอยุธยา
                      เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นเสวยราชย์ใน พ.ศ. ๑๙๙๑ นั้น ทางสุโขทัยไม่มีพระมหาธรรมราชาปกครองแล้ว คงมีแต่พระยายุทธิษเฐียร  พระโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ ๔   ได้รับแต่งตั้งจากอยุธยาให้ไปปกครองเมืองพิษณุโลก ถึง      พ.ศ. ๑๙๙๔  พระยายุทธิษเฐียรไปเข้ากับพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา  พระราชมารดาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ปกครองเมืองพิษณุโลกต่อมาจนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๐๐๖  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้เสด็จไปประทับที่พิษณุโลกและถือว่าอาณาจักรสุโขทัยถูกรวมเข้ากับอาณาจักรอยุธยานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

2. ด้านการปฏิรูปการปกครอง
              สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีพระประสงค์ที่จะดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางหรือราชธานี  จึงลดบทบาทของเจ้านายลงและเพิ่มอำนาจให้ขุนนาง  เพื่อป้องกันการแย่งชิงอำนาจจากเชื้อพระวงศ์ เช่น ลดฐานะเมืองลูกหลวง เมืองหลานหลวงลงเป็นเมืองชั้นจัตวาและส่งขุนนางไปปกครองแทนเจ้านาย มีการแยกฝ่ายทหารและพลเรือนโดยใช้ขุนนางตำแหน่งสมุหพระกลาโหมดูแลกิจการฝ่ายทหาร สมุหนายกดูแลกิจการฝ่ายพลเรือนทั่วราชอาณาจักร ทรงตรากฎมนเทียรบาลขึ้นเพื่อความมั่งคงของสถาบันกษัตริย์  นอกจากนี้ยังทรงตราพระราชกำหนดศักดินา  ได้แก่  พระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนและพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง   พ.ศ. ๑๙๙๘  เพื่อประโยชน์ในการลำดับชั้นของบุคคลว่ามีศักดิ์ สิทธิ์ และอำนาจหน้าที่ต่างกันอย่างไร  เป็นการจัดระเบียบการปกครองให้มีแบบแผนรัดกุมกว่าเดิมในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อยุธยาทำสงครามยืดเยื้อกับอาณาจักรล้านนา ซึ่งมีพระเจ้าติโลกราชเป็นกษัตริย์ (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๘๔ - ๒๐๓๐)  ทำให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถประทับที่เมืองพิษณุโลกนานถึง ๒๕ ปี  เพื่อดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือและเพื่อความสะดวกในการป้องกันการรุกรานของล้านนา  ในระยะนี้จึงถือว่าเมืองพิษณุโลกมีฐานะเป็นราชธานีของอาณาจักรอยุธยา
                สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคตใน พ.ศ. 2031  ทรงอยู่ในราชสมบัติ 40 ปี นับว่านานที่สุดในบรรดากษัตริย์อยุธยาทุกพระองค์

 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พระเชษฐาธิราช)

 พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒  เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  ครองราชย์ พ.ศ. ๒๐๓๔  ถึง พ.ศ. ๒๐๗๒  
ใน พ.ศ. ๒๐๕๔ โปรตุเกสได้เข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยา นับเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย ไทยจึงเริ่มเรียนรู้ศิลปวิทยาของชาวตะวันตกโดยเฉพาะด้านการทหาร  ทำให้สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒  ทรงพระราชนิพนธ์ตำราพิชัย-สงครามของไทยได้เป็นครั้งแรก  นอกจากนี้ทรงให้ทำสารบัญชี  คือ  การตรวจสอบจัดทำบัญชีไพร่พลทั้งราชอาณาจักร นับเป็นการสำรวจสำมะโนครัวครั้งแรก  โดยทรงตั้งกรมสุรัสวดีให้มีหน้าที่สำรวจและคุมบัญชีไพร่พล

ทางด้านศาสนา

              สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ไว้ในเขตพระราชฐานและให้หล่อ พระศรีสรรเพชญ์  สูง 8 วา  หุ้มทองคำ ไว้ในพระมหาวิหารของวัดด้วย  ในรัชสมัยนี้อยุธยาและล้านนายังเป็นคู่สงครามกันเช่นเดิมเนื่องจากกษัตริย์ล้านนา  คือ  พระเมืองแก้ว  (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๐๓๘ - ๒๐๖๘)  พยายามขยายอาณาเขตลงมาทางใต้ จนถึง พ.ศ. ๒๐๖๕  มีการตกลงเป็นไมตรีกัน สงครามจึงสิ้นสุดลง







สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

 พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ
 
                    
      สมเด็จพระนเรศวรมหาราช   เป็นโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชาในราชวงศ์สุโขทัยกับพระวิสุทธิกษัตริย์  พระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  ประสูติเมื่อ  พ.ศ. ๒๐๙๘ ที่เมืองพิษณุโลกเมื่อพระชนมายุได้  ๙  พรรษา ทรงถูกส่งไปเป็นตัวประกันที่กรุงหงสาวดี  เพราะพม่ายึดเมืองพิษณุโลกได้  ทรงได้รับการเลี้ยงดูในฐานะพระราชบุตรบุญธรรมเป็นเวลา  ๗ ปี  จน พ.ศ. ๒๑๑๒  กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระมหาธรรมราชาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาในฐานะเมืองขึ้นของกรุงหงสาวดี  และอนุญาตให้พระนเรศวรกลับกรุงศรีอยุธยา  และได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าเมืองพิษณุโลกและมีตำแหน่งอุปราช  ระหว่างนั้นทรงทำสงครามกับเขมรและพม่า   เพื่อป้องกันอยุธยา พระเจ้าหงสาวดีเห็นดังนี้จึงคิดกำจัดพระนเรศวร  แต่พระองค์ทรงทราบจึงทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง รวมเวลาที่กรุงศรีอยุธยาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นเวลา  ๑๕  ปี หลังจากประกาศอิสรภาพก็ทรงทำสงครามกับพม่าหลายครั้งและได้กวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองฝ่ายเหนือมาไว้เป็นกำลังได้มาก  ต่อมาในพ.ศ. ๒๑๓๓  สมเด็จพระธรรมราชาสวรรคต  พระนเรศวรจึงเสด็จขึ้นครองราชย์และทรงสถาปนาพระเอกาทศรถพระอนุชาขึ้นเป็นพระมหาอุปราช พระราชภารกิจของพระองค์  ได้แก่  การทำศึกสงคราม  โดยเฉพาะสงครามครั้งสำคัญ  คือ  สงครามยุทธหัตถี  ที่ทรงรบกับพม่าที่ตำบลหนองสาหร่าย  ซึ่งพระองค์ทรงมีชัยชนะอย่างเด็ดขาดและถือเป็นพระเกียรติสูงสุด  เป็นวีรกรรมสุดยอดของกษัตริย์  แม้แต่ฝ่ายแพ้ก็ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นนักรบแท้ หลังจากนั้นตลอดระยะเวลา ๑๕๐ ปี  กรุงศรีอยุธยาไม่ถูกรุกรานจากพม่าอีก  สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมทั้งล้านนา ล้านช้าง  ไทใหญ่  และกัมพูชา  รวมถึงพม่า  ครั้งสุดท้าย  คือ  การเดินทัพไปตีเมืองอังวะ  ซึ่งพระองค์ประชวร  และสวรรคตที่เมืองหาง  ใน พ.ศ. ๒๑๔๘  พระชนมายุได้  ๕๐  พรรษา  เสวยราชสมบัติได้  ๑๕  ปี   สมเด็จพระนเรศวรมหาราช   ทรงเป็นวีรกษัตริย์ที่ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะผู้กอบกู้เอกราชให้แก่กรุงศรีอยุธยา  ประชาชนชาวไทยจึงยกย่องพระองค์ให้เป็น  มหาราช  พระองค์หนึ่ง 



  สมเด็จพระนารายณ์มหาราช 

พระราชประวัติ
                        สมเด็จพระนารายณ์มหาราช  เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กับพระอัครมเหสี  ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๕  เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงได้รับการศึกษาทั้งด้านวิชาการ การกีฬา การล่าสัตว์  การขี่มา ขี่ช้าง และการแข่งเรือ  พระองค์มีแม่นม ๒  คน คอยดูแลอภิบาล  คือ  เจ้าแม่วัดดุสิตซึ่งเป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก)  และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตผู้มีชื่อเสียง แม่นมอีกคนหนึ่ง เป็นมารดาของพระเพทราชา พ.ศ. 2198   พระเจ้าปราสาททองประชวรหนักจึงทรงมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้าชัย พระโอรสองค์โต ซึ่งประสูติจากพระสนม เจ้าฟ้าชัยครองราชย์ได้ประมาณหนึ่งปี   ก็ถูกปลงพระชนม์โดยพระศรีสุธรรมราชา พระเจ้าอา พระอนุชา จากนั้นพระศรีสุธรรมราชาก็ขึ้นครองราชย์  และแต่งตั้งให้พระนารายณ์เป็นพระมหาอุปราชวังหน้า   หลังจากนั้นประมาณ  ๒  เดือนพระนารายณ์ก็ได้ปลงพระชนม์สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา  เนื่องจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาคิดจะเอาเจ้าฟ้าหญิงศรีสุวรรณหรือพระกนิษฐภคินีร่วมพระชนนีของพระนารายณ์มาเป็นพระชายา  หลังจากนั้นพระนารายณ์ก็เสด็จขึ้นครองราชย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๔ ของพระราชวงศ์ปราสาททอง  ใน พ.ศ. ๒๑๙๙  ขณะพระชนมายุได้ ๒๕ พรรษา  ทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชญ์  แต่คนทั่วไปนิยมเรียก  สมเด็จพระนารายณ์  กรุงศรีอยุธยาในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  มีความเจริญรุ่งเรืองมาก  

 พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

               - การลดส่วยและงดเก็บภาษีอากรจากราษฎรเป็นเวลา ๓ ปีเศษ
                       - การประกาศใช้กฎหมายพระราชกำหนดและกฎหมายเพิ่มเติมลักษณะรับฟ้อง
                       - การส่งเสริมงานด้านวรรณกรรม  หนังสือที่แต่งในสมัยนี้  เช่น  สมุทรโฆษคำฉันท์ โคลงทศรถสอนพระราม  โคลงพาลี-สอนน้อง  โคลงราชสวัสดิ์  เพลงพยากรณ์กรุงเก่า  เพลงยาวบางบท  รวมถึงวรรณกรรมชิ้นสำคัญ  คือ  โคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ นับเป็น  ยุคทองแห่งวรรณกรรม  ของไทยยุคหนึ่ง  
                       การทำศึกสงครามกับเชียงใหม่และพม่า พ.ศ.๒๒๐๓  และได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ลงมาอยุธยาด้วย 
                       - ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศนั้น  เจริญรุ่งเรืองมาทั้งประเทศตะวันออก เช่น จีน อินเดีย และประเทศตะวันตกที่สำคัญ ได้แก่ โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส  ทั้งด้านการเชื่อมสัมพันธไมตรีและการป้องกันการคุกคามจากชาติต่างๆ เหล่านี้จากพระราชกรณียกิจต่างๆ ดังกล่าว  จึงทรงได้รับการยกย่องว่าทรงเป็น มหาราช พระองค์หนึ่ง อีกทั้งในรัชสมัยของพระองค์ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นยุคสำคัญด้านศิลปวัฒนธรรมยุคหนึ่งด้วย  สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๒๓๑  ที่เมืองลพบุรี ราชธานีแห่งที่สองที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น