วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 5

       

    สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 5 พระมหากษัตริย์อาณาจักรอยุธยาพระองค์ที่ 24 (ครองราชย์ พ.ศ. 2173 - พ.ศ. 2199) และทรงเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ปราสาททอง ราชวงศ์ลำดับที่ 4 ของอาณาจักรอยุธยา
ราชวงศ์ปราสาททอง เป็นราชวงศ์ที่ ๔ ครองกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา ๕๘ ปี (พ.ศ. ๒๑๗๒ - พ.ศ. ๒๒๓๑) สถาปนาราชวงศ์โดยสมเด็จเจ้าฟ้าปราสาททองด้วยการยึดอำนาจจากสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ กษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัยพระองค์สุดท้าย ราชวงศ์ปราสาททองมีพระมหากษัตริย์ครองราชย์ ๔ พระองค์เป็นลำดับดังนี้ 

       ๑. สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ผู้สถาปนาราชวงศ์ เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ ๓๐ พรรษา ครองราชย์เป็นเวลา ๒๗ ปี (พ.ศ. ๒๑๗๒-๒๑๙๙) 

       พระเจ้าปราสาทเป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระเจ้าทรงธรรม รับราชการเป็นมหาดเล็กของพระเอกาทศรถ และเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นในกรมวังตอนอายุได้ 17 ปี เมื่อพระเจ้าทรงธรรมสวรรคตก็เกิดปัญหาการสืบราชสมบัติ ขุนนางในราชสำนักแยกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือเจ้าพระยามหาเสนาสนับสนุนพระศรีศิลป์ ซึ่งเป็นอนุชาของพระเจ้าทรงธรรม อีกฝ่ายหนึ่งคือ พระยาศรีสุริยวงศ์ (ปราสาททอง) สนับสนุนพระเชษฐาธิราช พระชนม์พรรษา 14 ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าทรงธรรม ฝ่ายพระเชษฐาธิราชได้ชัยชนะขึ้นครองราชสมบัติ ดังนั้นพระยาศรีสุริยวงศ์ (ปราสาททอง) จึงได้รับตำแหน่งกลาโหมมีไพร่พลในบังคับและมีอำนาจมาก พระเชษฐาธิราชครองราชสมบัติได้ 1 ปี 7 เดือน เกิดความขัดแย้งกับพระยาศรีสุริยวงศ์ พระเจ้าแผ่นดินถูกจับสำเร็จโทษ และตั้งพระอนุชาคือพระอาทิตยวงศ์ พระชนม์พรรษา 10 ขึ้นเป็นกษัตริย์ได้เพียง 1 เดือน เจ้าพระยาสุริยวงศ์ ก็ยึดอำนาจสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อพระชนม์พรรษา 30 พระองค์ครองราชย์ 27 ปี 


       จากปัญหาการสืบราชสมบัติซึ่งมีมาตลอดในสมัยอยุธยา ทำให้พระเจ้าปราสาททองพยายามที่จะแก้ไขปัญหาการปกครอง คือพยายามที่จะไม่ให้เจ้าหรือขุนนางคนใดคนหนึ่งมีอำนาจในการคุมไพร่พลมากจนมีอำนาจมากขึ้น พระเจ้าปราสาททองได้ดำเนินการให้แบ่งแยกอำนาจกันระหว่าง 2 เสนาบดีผู้ใหญ่คือกลาโหม และ มหาดไทย แบ่งหัวเมืองทางเหนือให้ขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาของมหาดไทยให้หัวเมืองทางใต้อยู่ในปกครองของกลาโหม 


       นอกจากปัญหาภายในดังกล่าวแล้ว สมัยพระเจ้าปราสาททอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับญี่ปุ่นและฮอลันดาในกรณีของญี่ปุ่นนั้นเนื่องจากหัวหน้าของชาวญี่ปุ่นในอยุธยาได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการไทย คือเข้ามาเป็นทหารอาสารักษาพระองค์ ดังนั้นญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งจึงเกี่ยวพันกับการเมืองของการสืบราชสมบัติ ในกรณีนี้เมื่อพระเจ้าปราสาททองยึดอำนาจเสียเอง ก็ทำให้ยามาดะ นางามาซะ ไม่พอใจ ยามาดะถูกส่งไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และถูกลอบวางยาพิษเสียชีวิต และบทบาทของญี่ปุ่นในราชสำนักก็ถูกกำจัดลงจนเกือบจะหมดสิ้น 


       ในสมัยพระเจ้าปราสาททองเป็นสมัยที่ศิลปะเกี่ยวกับศาสนาเฟื่องฟูมาก มีการรื้อฟื้นอิทธิพลของสถาปัตยกรรมเขมร เช่นการสร้างปรางค์ปราสาทที่วัดไชยวัฒนาราม และที่อำเภอนครหลวง แต่ในขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาศิลปะของพระพุทธรูป (ทรงเครื่องกษัตริย์) อันถือเป็นแบบฉบับที่สำคัญของปลายอยุธยา พระเจ้าปราสาททองทรงเน้นพระราชพิธีเสด็จไปบูชารอยพระพุทธบาทที่สระบุรีอันเริ่มมาแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรม จนกลายเป็นประเพณีที่สำคัญของอยุธยาตอนปลาย 

       ๒. สมเด็จเจ้าฟ้าไชย (พ.ศ. ๒๑๙๙ - พ.ศ. ๒๑๙๙) พระโอรสของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ครองราชย์ได้เพียง ๒ วัน (๗-๘ สิงหาคม) ก็ถูกพระนารายณ์ (พระอนุชา) ร่วมกับพระศรีสุธรรรมราชา ทำการยึดอำนาจและประหารชีวิต 

       ๓. สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา (พ.ศ. ๒๑๙๙ - พ.ศ. ๒๑๙๙)พระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเป็นพระเจ้าอาของเจ้าฟ้าไชย อยู่ในราชสมบัติได้เพียง ๒เดือน ๑๘ วัน พระนารายณ์ก็ชิงราชสมบัติและสำเร็จโทษพระศรีสุธรรมราชา 

       ๔. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙ - พ.ศ. ๒๒๓๑)พระโอรสของพระเจ้าปราสาททอง เมื่อพระราชบิดาสวรรคต พระนารายณ์ทรงร่วมกับ พระเจ้าอา(พระศรีสุธรรมราชา) ชิงราชสมบัติจากพระเชษฐา(เจ้าฟ้าไชย)และต่อมาทรงยึดอำนาจจาก พระศรีสุธรรมราชา แล้วจึงสถาปนาพระองค์ "ปราบดาภิเษก"เป็นพระมหากษัตริย์ 

       สมัยของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ถือได้ว่ากรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองถึงขีดสุด ทรงติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศ แต่ผลของการดำเนินนโยบายที่ล่อแหลมของพระองค์และการที่ทรงสนพระทัยในคริสต์ศาสนา ทำให้บรรดาขุนนางไทยและพระสงฆ์เกิดความรู้สึกต่อต้านชาวต่างชาติ เมื่อพระองค์ทรงประชวร ได้ทรงแต่งตั้งให้พระเพทราชารักษาราชการ โดยยังไม่ได้มอบราชสมบัติให้ผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นพระอนุชา โอรสบุญธรรมหรือพระธิดาของพระองค์ พระเพทราชาจึงยึดอำนาจ พระปีย์(โอรสบุญธรรม)ถูกลอบสังหาร 

       สมเด็จพระนารายณ์ฯ สวรรคตเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๒๓๑ พระเพทราชาก็ขึ้นครองราชสมบัติและสถาปนาราชวงศ์บ้านพลูหลวงสืบต่อมา พระอนุชาของพระนารายณ์คือ เจ้าฟ้าอภัยเทศและเจ้าฟ้าน้อยถูกสำเร็จโทษจึงเป็นอันสิ้นสุดของราชวงศ์ปราสาททอง


อ้างอิง http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=28d0f1d79e4fc663

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น