วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

พระยาศรีสหเทพ



พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) เป็นขุนนางสำคัญมากทีเดียว เป็นที่โปรดปรานในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ อย่างยิ่ง ตรัสเรียกว่า เจ้าศรีทองเพ็งบ้าง เจ้าศรีบ้าง เป็นที่ทราบกันทั่วไป เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลแก่ลูกหลานของพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) จึงพระราชทานว่า ศรีเพ็ญโดยทรงประสมต้นราชทินนามกับท้ายชื่อจริงเข้าด้วยกัน
            เคยเล่าแล้วว่า ที่พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ได้ชื่อว่า ขุนคลังแก้วในรัชกาลที่ ๓ นั้น มิใช่ท่านเรียกเอง หรือชาวบ้านเรียก หากแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรงยกย่อง ตามที่ปรากฏในพระบรมราชปุจฉา เมื่อครั้งพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิลาส กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระอาลัยโทมนัสมาก จึงทรงตั้งพระบรมราชปุจฉาในที่ประชุมพระสงฆ์ราชาคณะเถรานุเถระ ๖๐ รูป ว่าเพราะเหตุใด นางแก้วในรัชกาลของพระองค์จึงสิ้นพระชนม์ แต่พระชนม์ยังน้อยเพียงสามสิบกว่า รวมทั้ง ขุนคลังแก้วของพระองค์ ซึ่งเพิ่งสิ้นชีวิตไปก่อนหน้านี้ไม่นานนัก
            ในพระบรมราชปุจฉา ตอนหนึ่งว่า
             “โยมมีเบญจพละ ๕ ประการ คือ ๑. มีบ่อแก้ว ๒. มีช้างแก้ว ๓. มีนางแก้ว ๔. มีขุนพลแก้ว ๕. มีขุนคลังแก้ว 
              
๑. ที่โยมว่ามีบ่อแก้วนั้นคืออ้ายภู่ (พระยาราชมนตรี ชื่อเดิมว่า ภู่เป็นข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ ๓ เป็นบิดาของ คุณพุ่ม บุษบาท่าเรือ และเป็นต้นสกุล ภมรมนตรี-จุลลดาฯ) 
              
๒. ที่โยมว่ามีช้างแก้วนั้น คือ พระยาช้างเผือกของปู่และบิดาของโยมเอง 
             
 ๓. ที่โยมว่ามีนางแก้วนั้น คือโยมมีพระราชธิดาพระองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิลาศกรมหมื่นอัปษรสุดาเทพ เป็นพระราชปิยธิดาเสน่หาอเนกผลของพระราชบิดา  
                    
๔. ที่โยมว่ามี ขุนพลแก้ว นั้น คือ พี่บดินทรเดชา (เจ้าพระยาบดินทรเดชา นามเดิมสิงห์ ต้นสกุล สิงหเสนี-จุลลดาฯ) 
                    
๕. ที่โยมว่ามีขุนคลังแก้วนั้น คือเจ้าศรีทองเพ็ง
            บัดนี้นางแก้วกับขุนคลังแก้วมาล่วงลับดับเบญจขันธ์สังขารไปสู่ปรโลกแต่พระชนม์และอายุยังน้อย ยังบ่มิสมควรจะถึงซึ่งกาลกิริยาตายฉะนี้เล่าทั้งสองคน ยังเหลืออยู่แต่บ่อแก้วคือ ไอ้ภู่ กับขุนพลแก้วคือ พี่บดินทรเท่านั้น เป็นที่เปล่าเปลี่ยวเศร้าใจของโยมยิ่งนักหนา หรือว่าโยมจะมีบุพพอกุศลกรรมอยู่บ้างประการใด ในบุเรชาติปางก่อนบ้างจึงได้มาตามทันในปัจจุบันชาตินี้...” 

         
      บิดาของพระยาศรีสหเทพ ชื่อ ทองขวัญ เป็นบุตรชายของหลวงรักษ์เสนา (จำรัส)
           หลวงรักษ์เสนา (จำรัส) เป็นน้องชายต่างมารดาของนายบุนนาค (เจ้าพระยามหาเสนา ต้นสกุลบุนนาค)   นายทองขวัญจึงเป็นหลานอาของเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) นั่นเอง   และเป็นลูกผู้น้องของสมเด็จพระเจ้าพระยามหาประยุรวงศ์ กับสมเด็จเจ้าพระยามหาพิชัยญาติ 
           
นายทองขวัญนั้นเป็นลูกศิษย์ของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก แต่ครั้งทรงเป็นพระอักษรสาส์นเมื่อ ปลายกรุงศรีอยุธยา จึงติดตามเสด็จไปด้วยตลอดเวลา ครั้งกรุงแตกได้ติดตามสมเด็จพระปฐมฯ ไปยังเมืองพิษณุโลก และอยู่ปรนนิบัติจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ ได้ร่วมกับกรมหลวงจักรเจษฐา (พระนามเดิมว่าลา พระราชอนุชาต่างพระชนนีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ) เชิญพระอัฐิมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ แต่ครั้งยังทรงรับราชการในกรุงธนบุรี
             จึงนับว่า นายทองขวัญเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ  ออกจะแปลกอยู่ที่นายทองขวัญ ผู้ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิม ได้รับใช้ใกล้ชิดพระองค์ในรัชกาลที่ ๑ แม้ไปรบทัพจับศึกเมืองเขมรก็ตามเสด็จไปด้วย ถึงกับโปรดตั้งให้เป็นว่าที่พระยาราชนิกุล (ขณะป่วยเป็นหลวงราชเสนาอยู่)  ทว่ามาแต่งงานกับธิดาของเจ้าพระยารามจตุรงค์ (ต่อไปจะเรียกว่าพระยารามัญวงศ์ ตามปากชาวบ้าน) ซึ่งถูกประหารชีวิตเมื่อสิ้นพระราชวงศ์กรุงธนบุรี โดยขอตายไม่ยอมอยู่รับราชการ ดังที่ทราบๆ กันอยู่ 
           ส่วนมารดาของพระยาศรีสหเทพ ชื่อ ทองขอน เป็นธิดาของพระยารามจตุรงค์ ตำแหน่งจักรีกรุงธนบุรี หลังจากเจ้าพระยาจักรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) เสด็จขึ้นดำรงพระเกียรติยศ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกแล้ว            (พระยารามจตุรงค์นี้ ชาวบ้านเรียกกันหลายอย่าง เรียกว่า พระยารามัญวงศ์ ตามบรรดาศักดิ์เดิมบ้าง เรียกว่า จักรีมอญบ้าง สุดแล้วแต่สะดวกปาก ที่จริงตำแหน่งของท่านเทียบเจ้าพระยาอัครเสนาบดีบางแห่ง ดังเช่นในราชินิกุลรัชกาลที่ ๓ จึงเรียกท่านว่าเจ้าพระยารามจัตุรงค์)
            พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) จึงเป็นหลานตาของเจ้าพระยารามจตุรงค์ หรือพระยารามัญวงษ์ (รามัญวงศ์) หรือบางคนในสมัยกรุงธนบุรีเรียกท่านว่า จักรีมอญ
           พวกมอญที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแต่สมัยอยุธยา ธนบุรีและกรุงเทพฯนั้น เข้ามากันหลายครั้งหลายหน            ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะพวกมอญที่ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาอยู่กรุงธนบุรีเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว
            มอญเหล่านี้ พวกหัวหน้าที่ใกล้ชิดพระองค์ ช่วยสู้รบและรู้จักคุ้นเคยกันมาแต่สมัยกรุงเก่า โปรดฯให้อยู่บริเวณคลองใกล้ๆ กับพระราชวัง ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า คลองมอญหัวหน้าพวกนี้ก็คือพระยารามจตุรงค์ ซึ่งมีน้องสาว ๒ คน ท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) และท่านแป้น (เอกภรรยาของพระยาพัทลุงคางเหล็กเชื้อสายสุลัยมาน)
            ส่วนอีกพวกหนึ่ง โปรดฯให้ข้ามไปอยู่พระนครธนบุรีฟากตะวันออก แถบคลองคูเมือง (ที่ต่อมาเรียกกันผิดๆจนบัดนี้ว่าคลองหลอด)            ตามที่ปรากฏในหนังสือวงศ์ตระกูล ซึ่งพระยาสัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ) เล่าเอาไว้นั้น ได้เล่าถึงเรื่องพระยารามัญวงศ์ ว่า  “นายชำนาญ (ทองขวัญ) ได้แต่งงานกับทองขอนบุตรีพระยานครอินทร์ พระยานครอินทร์นี้ เมื่อครั้งแผ่นดินพระที่นั่งสุริยามรินทร์รัชกาลที่ ๓๓ แห่งพระนครศรีอยุธยา (พระเจ้าเอกทัศน์) ได้เป็นที่สมิงนระเดชะ ชื่อตัวว่า มะทอเปิ้น เป็นนายกองรามัญ กรมอาษาทะมาตย์ ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าตากสิน ได้ตั้งให้เป็นพระยานครอินทร์ แล้วเลื่อนให้เป็นพระยาและเจ้าพระยารามจตุรงค์ หรือบางแห่งก็เรียกว่า พระยารามัญวงษ์ (จักรีมอญ ก็เรียกกัน) นามตัวของท่านว่าชื่อ มะโดด หรือมะซอน...มะซอนผู้นี้แหละที่เป็นทหารคู่พระทัยของพระเจ้าตากสิน และได้ตายพร้อมกันกับพระเจ้าตากสิน...” 
            ชื่อตัวของเจ้าพระยารามจตุรงค์ หรือพระยารามัญวงศ์นี้ ดูจำกัดมาหลายชื่อ มะทอเปิ้นคงเป็นชื่อมอญ มะโดดหรือ มะซอนอาจเป็นชื่อใหม่หรืออาจจำกันมาผิดเพี้ยนไปบ้าง 
            ในหนังสือราชินิกุล รัชกาลที่ ๓ พระนิพนธ์สมเด็จพระบรมราชปิตุลาบรมพงศาภิมุขฯ ว่า เจ้าพระยารามจตุรงค์ชื่อเดิมว่า ซวนแต่ครั้นในหนังสือราชินิกุล รัชกาลที่ ๕ พระนิพนธ์พระองค์เดียวกัน (อาจเรียงพิมพ์ผิด) เป็น ชวน'
          ทว่าอย่างไรก็ตาม นามเดิมของท่านจะว่ากระไรก็แล้วแต่ ที่แน่นอนคือ ท่านเป็น เจ้าพระยารามจตุรงค์ ว่าที่จักรี จึงเรียกกันว่า จักรีมอญ อย่างแน่นอน ส่วนที่เรียกกันว่า พระยารามัญวงศ์ นั้น เรียกตามบรรดาศักดิ์ก่อนเป็นเจ้าพระยารามจตุรงค์ แล้วคงจะเลยติดปาก เพราะยังไม่คุ้นกับบรรดาศักดิ์
            ครั้นถึงแผ่นดินรัตนโกสินทร์ที่ ๑ นายทองขวัญได้เป็นหลวงราชเสนา และได้สมรสกับท่านทองขอน ธิดาของจักรีมอญ จึงได้รับพระราชทานที่บ้านให้อยู่ในถิ่นพวกมอญฟากตะวันออก พวกมอญเคารพนับถือจักรีมอญอยู่แล้ว หลวงราชเสนาและท่านทองขอนจึงเป็นที่นับถือในหมู่ชาวมอญเหล่านี้จนกระทั่งตกมาถึงพระยาศรีสหเทพ ฯ เรียกว่า “ สี่กั๊กพระยาศรี ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น